วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดสมุทรสงคราม


สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดสมุทรสงคราม


ตลาดน้ำยามเย็น
ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม


ในอดีตเมืองอัมพวาถือว่าเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางน้ำที่สำคัญของจังหวัดสมุทรสงคราม มีตลาดน้ำขนาดใหญ่และชุมชนริมน้ำที่เป็นศูนย์กลางด้านพาณิชยกรรม แต่ผลกระทบของการพัฒนาการคมนาคมทางบก ทำให้ความเป็นศูนย์กลางฯ ของอัมพวาต้องสูญเสียไป ตลาดน้ำค่อยๆลดความสำคัญและสูญหายไปในที่สุด ทิ้งไว้แต่ร่องรอยของความเจริญในอดีตซึ่งยังคงปรากฏให้เห็นชัดเจนในทุกวันนี้
ทางเทศบาลตำบลอัมพวา โดยความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในท้องถิ่น ได้ฟื้นฟูตลาดน้ำอัมพวาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่ออนุรักษ์ความเป็นอยู่ของชุมชนริมน้ำ ซึ่งในปัจจุบันจะหาดูได้ยาก ให้สืบทอดตลอดไป โดยใช้ชื่อว่า "ตลาดน้ำยามเย็น"

สิ่งที่น่าสนใจ
ตลาดน้ำยามเย็น

จะมีทุกวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 15.00 -22.00 น.วันเสาร์ และวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 12.00-22.00 น.
ตลาดน้ำโดยทั่วไปมักจะจัดขึ้นในเวลากลางวัน แต่ตลาดน้ำยามเย็น ที่อัมพวาแห่งนี้ จะจัดขึ้นในช่วงงเวลาเย็นเรื่อยไปจนถึงเวลาพลบค่ำ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นตลาดน้ำแห่งแรกของประเทศไทย ที่จัดในลักษณะเช่นนี้ ในตอนเย็นชาวบ้านจะเริ่มทยอยพายเรือนำสินค้าหลากหลายนานาชนิด อาทิ อาหาร ผลไม้ พืชผัก ขนม ของกินของใช้ มาขายให้กับนักท่องเที่ยว หรือคนในท้องถิ่นที่สัญจรไปมาที่ตลาดอัมพวา ทำให้ได้สัมผัสกับธรรมชาติของชีวิตของชุมชนริมน้ำ ซึ่งเป็นที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง นักท่องเที่ยวสามารถที่จะหาซื้ออาหารมานั่งรับประทาน บริเวณริมคลองอัมพวาติดกับตลาดน้ำ ซึ่งได้มีการจัดสถานที่ไว้ ทำให้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

ล่องเรือชมหิ่งห้อย
นักท่องเที่ยวที่มีความประสงค์จะนั่งเรือชมหิ่งห้อย ประกายความงามยามค่ำคืน หรือล่องเรือท่องเที่ยวตามลำน้ำแม่กลอง ก็สามารถติดต่อเรือได้ ติดต่อ โทร.089-4154523

การเดินทาง

ทางรถยนต์
จากตัวจังหวัดใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 325 ทางเดียวกับไปอำเภอดำเนินสะดวกและอุทยาน ร.2 ประมาณ 6 กม ก่อนถึงสามแยกไฟแดง มีทางแยกทางซ้ายเข้า อ.อัมพวา ไปอีกประมาณ 800 เมตร. ทางแยกซ้ายมือ เข้าตลาดอัมพวา จอดรถบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภออัมพวา
รถประจำทาง
จากสถานีขนส่งสายใต้
รถสาย 996 กรุงเทพฯ-ดำเนินฯ เป็นรถปรับอากาศ ผ่านจังหวัดสมุทรสงครามถึงตลาดอัมพวา
สาย 976 กทม.-สมุทรสงคราม ถึงสถานีขนส่งสมุทรสงคราม ขึ้นรถประจำทางสาย 333 แม่กลอง-อัมพวา-บางนกแขวก ถึงตลาดอัมพวา


ดอนหอยหลอด
ตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม


เป็นสันดอนที่เกิดขั้นบริเวณปากแม่น้ำแม่กลองชายฝั่งทะเลของจังหวัดสมุทรสงคราม มีลักษณะเป็นสันดอนใหญ่ตลอดชายฝั่งทะเล อยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 50 เมตร 2,000 เมตรมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 22,000 ไร่ จำนวนดอนที่เกิดขึ้นในขณะนี้มีทั้งหมด 7 ดอน แต่ละดอนแยกจากกันด้วยร่องน้ำเล็ก ๆ ลึกบ้าง ตื้นบ้างดอนที่มีหอยหลอดชุกชุมมากมีจำนวน 5 ดอน ซึ่งเป็นดอนที่เกิดขึ้นนานแล้ว ความหนาแน่นของหอยหลอดบนพื้นที่ประมาณ 15,056.25 ไร่ลักษณะพื้นที่ของดอนหอยหลอดเป็น ลักษณะดินปนทราย ชาวบ้านเรียกว่า "ทรายขี้เป็ด" ซึ่งอาจนำไปใช้ถมที่ได้ แต่ใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างไม่ได้หอยหลอดจะอยู่หนาแน่นบริเวณที่มีทรายประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ความหนาแน่นของหอยหลอดขึ้นอยู่กับ สภาพแวดล้อมในแต่ละปีที่เปลี่ยนแปลงไป

หอยหลอดเป็นสัตว์น้ำทะเลชนิหนึ่ง มีชื่อสามัญว่า Rozor clam และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Solen Strictus Gould 1861จัดเป็นหอยสองฝาที่มีตัวอาศัยอยู่ในฝาที่ประกบทั้งสองข้าง มีลักษณะคล้ายหลอดกาแฟ กลมยาวประมาณ 7-8 เซนติเมตร สีน้ำตาลอ่อน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1เซนติเมตร เป็น ขนาดของหอยที่โตเต็มที่ มีสภาพความเป็นอยู่โดยการฝังตัวตั้งเป็นแนวดิ่งอยู่ใต้พื้นทราย ยามน้ำแห้งซึ่งเป็นช่วงโอกาสที่ชาวประมงจะทำการจับหอยหลอดได้หอยจะเปิดฝาอยู่เรี่ยพื้น และยึดตัวยื่นออกมาจับแพลงตอนเป็นอาหารหรือการเคลื่อนตัวออกไปหาพื้นที่อยู่ใหม่

สิ่งที่น่าสนใจ

ดอนหอยหลอด
เนื่องจากดอนหอยหลอดมีหอยหลอดชุกชุมมาก และมีทัศนียภาพที่สวยงาม แปลก และมีเอกลักษณ์ ยามปกติเวลาน้ำขึ้นน้ำทะเลจะท่วม ดอนจะจมหายไปในน้ำไม่มีร่องรอยของดอนหอยหลอดอยู่เลยแต่พอน้ำลงจะปรากฏพื้นที่ดอนหอยหลอดค่อย ๆ โผล่ขึ้นทีละน้อย เป็นพื้นที่กล้างไกลหลายร้อยไร่ จึงทำให้ดอนหอยหลอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง สิ่งที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยว คือ หอยหลอด กล่าวกันว่าเป็นแหล่งที่มีหอยหลอดชุกชุมมากที่สุดแห่งเดียวในประเทศไทย หรือแห่งเดียวในโลก นักท่องเที่ยวนิยมลงไปจับหอยหลอดกันอย่างสนุกสนาน วิธีจับก็ใช้มือกดบงบนพื้นทราย จะปรากฏฟองอากาศ และเห็นรูปรากฏเอาไม้จิ้มปูนขาวแหย่ลงไป หอยหลอดจะโผล่ขึ้นมาให้จับ ต้องรีบเก็บใส่ภาชนะไว้มิฉะนั้นจะมุดดินหนีอยู่ลึกลงไปกว่าเดิมอีก

ไม่ควรสาดปูนขาวลงบนสันดอน เพราะจะทำให้หอยที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นตายหมด ช่วงเวลาเหมาะสมที่จะท่องเที่ยวดอนหอยหลอด คือ ประมาณเดือนมีนาคม - พฤษภาคมเพราะน้ำทะเลจะลดลงนานกว่าช่วงเวลาอื่น และสามารถมองเห็นสันดอนโผล่ขึ้นมา นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเรือบริเวณศาลาอาภร (ใกล้ศาลกรมหลวงชุมพรเขตตอุดมศักดิ์) เพื่อนั่งเรือไปชมดอนหอยหลอด นักท่องเที่ยวสามารถสอบถามรายละเอียดเวลาน้ำขึ้น - น้ำลง ได้ที่ อบต. บางจะเกร็งโทร 034-723749


หลายคนเข้าใจว่า "หอยหลอด" มีเพียงที่ดอนหอยหลอดที่เดียวในโลก แต่ความจริงแล้วยังมีหอยหลอดในบริเวณอื่นอีก เช่น จ.สมุทรปราการ และ จ.ตราด และในต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย แต่มีในปริมาณน้อย ไม่มากพอที่จะจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดอนหอยหลอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2543

ศาลกรมหลวชุมพรเขตอุดมศักดิ์

บริเวณดอนหอยหลอดยังเป็นที่ประดิษฐานศาลกรมหลวงชุมพรเขตตอุดมศักดิ์ มีการแสดงดนตรีไทยทุกวันอาทิตย์ที่ 1 และ 3 ของเดือน เวลา 17.00-18.30 น. ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

แหล่งรวมร้านอาหารทะเล และสินค้าต่างๆ มากมาย
ตลอดเส้นทางการเดินไปที่ดอนหอยหลอดจะมีร้านอาหารทะเลมากมาย เรียงรายทั้งสองด้านของถนนจนถึงดอนหอยหลอด จะเรียกว่าเป็นแหล่งรวมร้านอาหารทะเลของสมุทรสงครามก็ว่าได้ นอกจากนี้ยังมีร้านขายสินค้าของที่ระลึก ประเภทต่าง ๆ รวมทั้งอาหารทะเลสด-แห้ง กะปิคลองโคน น้ำตาลสด ฯลฯ

การเดินทาง
รถยนต์
1. ไปยังหมู่บ้านบางบ่อ ตำบลบางแก้ว ไปตามถนนธนบุรี-ปากท่อ (พระราม2) ก่อนถึงหลักกิโลเมตรที่ 62 มีป้ายซ้ายบอกทางเข้าดอนหอยหลอด ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร
2. ไปยังหมู่บ้านฉู่ฉี่ ตำบลบางจะเกร็ง ไปตามถนนธนบุรี-ปากท่อ (พระราม2) ประมาณกิโลเมตรที่ 64 ก่อนข้ามสะพานพุทธเลิศหล้านภาลัย เชิงสะพานมีป้ายบอกทางเข้าดอนหอยหลอดระยะ
ทางประมาณ 5 กิโลเมตร

รถโดยสาร
สามารถเดินทางโดยรถสองแถว มีรถออกตลอดทั้งวันจากตัวตลาดในอำเภอเมืองสมุทรสงคราม ไป ยังบ้านฉู่ฉี่ ดอนหอยหลอด

เรือ
การเดินทางไปยังดอนหอยหลอดนอก จากมีเรือขนาดต่าง ๆ บริการที่ท่าริมน้ำแม่กลอง ถ้าเป็นหมู่คณะใหญ่ประมาณ 40 คนขึ้นไป ติดต่อสอบถามล่วงหน้า ที่โรงเลื่อยจักรซุ่นฮวดเฮง คุณพรทิพย์ แสงวณิชโทร. 034-711466, 034-712558, 034-712451, 01-3785858 (มีบริการสั่งอาหารไปทานบนเรือ) หรือ ติดต่อที่ห้องขายตั๋วเรือข้ามฟากริมแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม


วัดเพชรสมุทรวรวิหาร
ตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม


วัดเพชรสมุทรวรวิหาร เดิมชื่อ "วัดศรีจำปา" สร้างขึ้นในราวรัชสมัยพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา ตามตำนานเล่าว่า ในปี พ.ศ.2307 ชาวบ้านแหลมในเขตเมืองเพชรบุรีอพยพหนีพม่ามาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณตำบลแม่กลองเหนือวัดศรีจำปา และเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านแหลม" ตามชื่อหมู่บ้านเดิมของตน ชาวบ้านแหลมได้ช่วยกันบูรณะวัดศรีจำปาและเรียกวัดนี้ใหม่ว่า "วัดบ้านแหลม" ต่อมาวัดบ้านแหลมได้ยกฐานะขึ้นเป็นอารามหลวงชั้นวรวิหาร ได้รับพระราชทานนามว่า "วัดเพชรสมุทรวรวิหาร"

สิ่งที่น่าสนใจ

หลวงพ่อบ้านแหลม
พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพเลื่อมใสของคนทั่วไป เป็นพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตรขนาดเท่าคนจริง สูงประมาณ 167 เซนติเมตร ตามตำนานเล่าว่า ชาวประมงบ้านแหลมออกไปลากอวนในอ่าวแม่กลอง ได้พระพุทธรูปติดมา 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่ง อีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปยืน พระพุทธรูปนั่งได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี ส่วนพระพุทธรูปยืนนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านแหลม เรียกกันว่า "หลวงพ่อบ้านแหลม"
ตอนที่ชาวประมงพบในอ่าวแม่กลองบาตรนั้นสูญหายไปในทะเล สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ที่ได้เคยเสด็จมานมัสการ ได้ถวายบาตรแก้วสีน้ำเงินถวายหลวงพ่อบ้านแหลมเป็นพุทธบูชา และยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชศรัทธาหลวงพ่อบ้านแหลม จึงพระราชทานผ้าดิ้นทองแก่หลวงพ่อจำนวนสองผืน แต่ละผืนมีขนาดหน้ากว้าง 6 นิ้ว ยาวประมาณ 10 ฟุต ปัจจุบันทางวัดได้จัดแสดงไว้ในพระอุโบสถที่ประดิษฐานหลวงพ่อบ้านแหลม ในวันสำคัญ เช่น วัดสงกรานต์ วันทอดกฐินพระราชทาน จะนำผ้าดิ้นทองพระราชทานมาประดับองค์หลวงพ่อบ้านแหลมด้วย
"หลวงพ่อบ้านแหลม" เป็นที่เคารพบูชาในหมู่พุทธศานิกชนโดยทั่วไป ในแต่ละวันจะมีผู้ศรัทธาจากทั่วทุกสารทิศมากราบนมัสการอย่างเนืองแน่น มีการเปรียบเปรยว่า หากใครไปเมืองสมุทรสงคราม ไม่ได้ไปนมัสการหลวงพ่อบ้านแหลมก็เสมือนไม่ได้ไปเมืองสมุทรสงคราม ใครพูดถึงเมืองสมุทรสงคราม ไม่กล่าวถึงนามหลวงพ่อบ้านแหลมก็เสมือนไม่รู้จักสมุทรสงคราม คนสมุทรสงครามคนใดไม่เคยเห็นหลวงพ่อบ้านแหลม ก็เปรียบเสมือนลูกกำพร้าไม่เคยเห็นหน้าพ่อ
ทัศนียภาพริมแม่น้ำแม่กลอง
เนื่องจากวัดเพชรสมุทรฯ ด้านหลังวัดมีบริเวณติดกับแม่น้ำแม่กลอง จึงสามารถชมทัศนียภาพชีวิตความเป็นอยู่และการดำรงชีวิตของประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำ
หากมีความประสงค์จะท่องเที่ยวทางน้ำ บริเวณด้านซ้ายมือของวัด(ด้านที่ติดกับแม่น้ำ) จะมีท่าเทียบเรือ ซึ่งจะมีทั้งเรือเมล์ เรือหางยาว สามารถที่จะเช่าท่องเที่ยวไปตามลำน้ำแม่กลอง หรือสถานที่ต่าง ๆ อาทิ อุทยาน ร.2, วัดบางแคน้อย, ค่ายบางกุ้ง, อาสนวิหารแม่พระบังเกิด หรือตลาดน้ำดำเนินสะดวก ในจังหวัดราชบุรีซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดสมุทรสงครามได้

การเดินทาง

ทางรถยนต์

จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 ถนนพระราม 2 (ถนนธนบุรี-ปากท่อ เดิม) ไปถึงหลัก กม.ที่ 63 ชิดซ้ายใช้ทางคู่ขนานต่างระดับ เข้าตัวเมืองสมุทรสงคราม ถึงสี่แยกแรกตรงไปเข้าตัวตลาด ถึงสี่แยกที่สอง(แยกโรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า) เลี้ยวขวาและตรงไป ข้ามทางรถไฟ ขับไปอีกประมาณ 100 เมตร วัดอยู่ทางซ้ายมือ (บริเวณพื้นที่ตรงข้ามกับวัดเป็นที่จอดรถได้)

รถประจำทาง
นั่งรถโดยสาร บขส สายกรุงเทพ-แม่กลอง หรือรถปรับอากาศสาย กรุงเทพ-ดำเนิน (รถเข้าตัวเมืองสมุทรสงคราม) ที่สถานนีขนส่งสายใต้ใหม่ แล้วนั่งรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างที่ท่ารถ บขส.สมุทรสงครามต่อ


อุทยาน ร.2
ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม


อุทยานนี้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเป็นการสนองพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานศิลปะอันงดงามไว้ เป็นมรดกแก่ชาติและได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดป้ายอุทยานเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2522 และเปิดให้ประชาชนเข้าชมภายในอุทยานได้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2530

สิ่งที่น่าสนใจ

อุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แบ่งพื้นที่ออกเป็น 6 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่หนึ่ง
ลานจอดรถหน้าอุทยาน ปัจจุบันมีที่ขายสินค้าพื้นเมืองและผลไม้ และอาศรมศึกษาซึ่งเป็นเรือนไทยโบราณ
ส่วนที่สอง
เป็นโรงละครกลางแจ้ง มีเนินลดหลั่นสำหรับชมการแสดง และปลูกพันธุ์ไม้ต่างๆ
ส่วนที่สาม
อาคารทรงไทย 5 หลัง จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ 4 หลัง และอาคารซ้อมโขน ละครและเก็บเครื่องดนตรีไทย 1หลัง
ส่วนที่สี่
สวนพันธุ์ไม้ในวรรณคดีนานาชนิด เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาและอนุรักษ์พันธุ์ไม้ มีหุ่นจำลองเรื่องในวรรณคดี สังข์ทอง ไกรทอง
ส่วนที่ห้า
พื้นที่ติดแม่น้ำ มีศาลาเอนกประสงค์สำหรับนั่งพักผ่อน มีร้านจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่มและสินค้าพื้นเมือง มีเรือประพาสอุทยาน ประชาชนขึ้นชมได้
ส่วนที่หก
พื้นที่ประมาณ 11 ไร่ ซึ่งจะดำเนินการจัดทำสวนและทำสวนเกษตรตามพระราชดำริในองค์ประธาน
พิพิธภัณฑ์พระพุทธเลิศหล้านภาลัย
เป็นอาคารทรงไทย จำนวน 4 หลัง พื้นที่รวม 600 ตารางเมตร จัดพิพิธภัณธ์แบบชาติพันธุ์วิทยา แสดงศิลปวัตถุในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่จะสะท้อนให้เห็นลักษณะศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และการดำรงชีวิตของชาวไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยแบ่งเป็นส่วนดังนี้

หอกลาง
ภายในประดิษฐ์พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และจัดศิลปโบราณวัตถุสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เป็นต้นว่า เครื่องเบญจงรค์ เครื่องถ้วย หัวโขน ซึ่งเป็นอุปกรณ์การแสดงนาฏกรรมตามบทวรรณคดีพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หุ่นวรรณคดีเรื่องสังข์ทองและอิเหนา หนังใหญ่
ห้องชาย
ทางปีกขวา จัดตกแต่งให้เห็นลักษณะความเป็นอยู่ของชายไทยที่มีความกล้าหาญ พร้อมในการอาสาปกป้องผืนแผ่นดินตามลักษณะสังคมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีพระพุทธรูปสำหรับบูชา สมุดไทย เสื้อขุนนางไทยโบราณ ดาบ โล่ รวมทั้งพระแท่นบรรทมซึ่งเชื่อว่าเป็นของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ห้องหญิง
ตกแต่งให้เห็นลักษณะความเป็นอยู่ของหญิงไทยโบราณ มีเตียงนอน แบบไทย โต๊ะเครื่องแป้ง คันฉ่อง ฉากปัก เป็นต้น
ชานเรือน
จัดตามแบบไทยโบราณ ตกแต่งด้วยกระถางไม้ดัด ไม้ประดับ อ่างบัว
ห้องครัวและห้องน้ำ
จัดไว้ที่ชั้นล่างอาคารปีกซ้าย แสดงลักษณะครัวไทยและห้องน้ำของคนชั้นกลาง มีเครื่องหุงต้ม ถ้วยชาม สำหรับอาหาร เป็นต้น
ตำแหน่งศิลาฤกษ์
แสดงให้เห็นแบบจำลองศิลาฤกษ์ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงประกอบพิธี

การเดินทาง

ทางรถยนต์
จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 35 ถนนพระราม 2 (ถนนธนบุรี-ปากท่อ เดิม) ไปถึงหลัก กม.ที่ 63 ชิดซ้ายใช้ทางคู่ขนานต่างระดับ เข้าตัวเมืองสมุทรสงคราม ถึงสี่แยกเลี้ยวขวา -เลี้ยวซ้ายข้ามทางรถไฟ เลี้ยวขวาถึงสามแยกไฟแดงเลี้ยวซ้ายวิ่งตรงไปประมาณ 6 กม. ถึงสามแยกอัมพวาชิดซ้ายเข้าอัมพวา วิ่งตรงผ่านตลาดอัมพวา ข้ามสะพานคลองอัมพวา(สะพานเดชาดิศร) ตรงไปผ่านวัดอัมพวันฯ อุทยานอยู่ซ้ายมือ


รถประจำทาง
จากสถานีขนส่งสายใต้
รถสาย 996 กรุงเทฯ-ดำเนินฯ เป็นรถปรับอากาศ ผ่านจังหวัดจังหวัดสมุทรสงครามถึงตลาดอัมพวา เดินผ่านตลาด ผ่านวัดอัมพวันเจติยาราม ถึงอุทยาน
สาย 976 กทม.-สมุทรสงคราม ถึงสถานีขนส่งสมุทรสงคราม ขึ้นรถประจำทางสาย 333 แม่กลอง-อัมพวา-บางนกแขวก ผ่านหน้าอุทยาน


ค่ายบางกุ้ง
ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม


เป็นค่ายทหารเรือไทยที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกกองทัพเรือมาตั้งค่ายที่ค่ายบางกุ้ง เรียกว่า "ค่ายบางกุง้" โดยสร้างกำแพงล้อมวัดบางกุ้งให้อยู่กลางค่าย เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นที่เคารพบูชาของทหาร ภายหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 ค่ายบางกุ้งก็ร้างไปจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนากรุงธนบุรี เป็นราชธานีจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ชาวจีนจากระยอง ชลบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรีรวบรวมผู้คนมาตั้งกองทหารรักษาค่าย จึงมีชื่อเรียกอีกหนึ่งว่า "ค่ายจีนบางกุ้ง" ในปี พ.ศ. 2311 พระเจ้ากรุงอังวะทรงยกทัพผ่านกาญจนบุรีมาล้อมค่ายจีนบางกุ้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระมหามนตรี (บุญมา) เป็นแม่ทัพยกไปช่วยเหลือทหารจีนขับไล่กองทัพพม่าทำให้ข้าศึกแตกพ่าย หลังจากนั้นค่ายบางกุ้งแห่งนี้ก็ถูกปล่อยให้รกร้างเกือบ 200 ปี จนมาถึง พ.ศ.2510 กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ตั้งเป็นค่ายลูกเสือขึ้น (ปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว) และได้สร้างศาลพระเจ้าตากสินไว้เป็นอนุสรณ์

สิ่งที่น่าสนใจ

โบสถ์ปรกโพธิ์
เป็นอุโบสถหลังเดิมที่สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จะถูกปกคลุมด้วยรากไม้ใหญ่ทั้งโพ ไทร ไกร และกร่าง มองจากภายนอกคิดว่าเป็นกลุ่มต้นไม้ใหญ่ มากกว่ามีโบสถ์อยู่ข้างใน รากไม้เหล่านี้ช่วยให้โบสถ์คงรูปอยู่ได้ ทั้งยังให้ความขรึมขลังอีกด้วย ภายในมีพระพุทธรูปประดิษฐาน ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อโบสถ์น้อย (หลวงพ่อนิลมณี) และเรียกโบสถ์ว่า "โบสถ์ปรกโพธิ์" และมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง สมัยปลายกรุศรีอยุธยาเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ


วัดบางกุ้ง
เป็นวัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน อยู่คนละฝั่งกับค่ายบางกุ้งโดยมีถนนผ่านกลาง สิ่งที่น่าสนใจในวัดนี้ได้แก่ คัมภีร์โบราณ ส่วนมากจะเป็นตำรายาโบราณ และบริเวณหน้าวัดด้านที่ติดกับแม่น้ำแม่กลอง จะมีปลาน้ำจืดต่างๆ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จนได้ชื่อว่า "วังมัจฉา"

การเดินทาง

ทางรถยนต์
จากตัวเมืองสมุทรสงคราม ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 325 (แม่กลอง-อัมพวา) ประมาณ 5 กม. เลยวัดบางกะพ้อม (ยังไม่ถึงตลาดอัมพวา) ให้สังเกตทางแยกซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง(สะพานสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์) ตรงไปถึง ถึงสามแยกเลี้ยวขวา ตรงไปผ่านวัดภุมรินทร์ จนถึงสามแยก (มีวัดบางแคใหญ่อยู่ขวามือ) เลี้ยวขวา ตรงไปผ่านวัดบางแคน้อย วัดปากน้ำ ข้ามสะพานคลองแควอ้อม สังเกตค่ายบางกุ้งอยู่ซ้ายมือ จะเห็นแนวกำแพงของค่าย

รถประจำทาง
จากตัวเมืองสมุทรสงคราม นั่งรถโดยสารสองแถว สายแม่กลอง-วัดปราโมทย์ คิวรถอยู่บริเวณธนาคารนครหลวงไทย สาขาสมุทรสงคราม รถจะวิ่งผ่านค่าย


อาสนวิหารแม่บังเกิด
ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม


ในปี พ.ศ.2390 มีคริสตชนประมาณ 200 คน ได้ช่วยกันสร้างวัดขึ้นในที่ดินของ ฟรังซิสโก ไง้ เป็นเรือนไม้หลังคามุงจาก มีชื่อว่า "วัดศาลาแดง" หริอบางคนเรียกว่า "วัดรางยาว" ตามลักษณะของสีทาวัดและทำเลที่ตั้ง อยู่ริมคลองที่ชาวจีนขุดต่อกับแม่น้ำแม่กลองเพื่อนำน้ำมาทำสวนผัก ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่ปากคลองบางนกแขวก ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสั่งขุดเชื่อมระหว่างแม่น้ำแม่กลองกับแม่น้ำท่าจีน เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำมุ่งไปสู่กรุงเทพฯ และได้สร้างวัดหลังใหม่ที่นั่น โดยมีชื่อว่า "แม่พระบังเกิด"

ปี พ.ศ. 2433 บาทหลวงเปาโลซัลมอน หรือที่ชาวบ้านเรียกท่านว่า "คุณพ่อเป่า" ได้เริ่มลงมือสร้างวัดหลังนี้ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยได้รับทุนสนับสนุนจากญาติพี่น้องของท่านในฝรั่งเศส จากคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปรารีส จากกรุงโรม หาทุนในการสร้างจนแล้วเสร็จ ทำพิธีเสกและเปิดใช้อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2439 ส่วนวัสดุของวัดหลังเก่าได้ถูกนำไปสร้างไว้ที่คลองขวางล่าง โดยมีนามชื่อว่า "วัดพระแม่องค์อุปถัมภ์" หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "วัดใน"

ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 สังฆมณฑลราชบุรี ได้ทำการบูรณะซ่อมแซมวัดครั้งใหญ่ เพื่อฉลองครบ 100 ปี ในปี 2539ดังนั้นอาสนวิหารแห่งนี้ จึงเป็นวัดที่สวยงามและเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

สิ่งที่น่าสนใจ

อาสนวิหารแห่งนี้ เป็นวัดที่สร้างมานานกว่าหนึ่งศตวรรษมาแล้ว เป็นศิลปะแบบโกธิค ของประเทศฝรั่งเศส สร้างด้วยอิฐเผา ฉาบด้วยปูนตำกับน้ำเชื่อมจากอ้อยใสสีดำ ภายในประดับด้วยกระจกสี ที่สวยงามจากประเทศฝรั่งเศส เป็นเรื่องเล่าของพระนางมารีพรหมจารีย์จากพระคัมภีร์ และภาพของบรรดานักบุญชายหญิง มีรูปปั้น ธรรมาสน?เทศน์ อ่างล้างบาป ขาเทียนลักาณะต่างๆ และรูปแกะสลักบรรยายเกร็ดประวัติในพระคัมภีร์คริสต์ศาสนา นับเป็นโบสถ์ที่มีความสวยงาม ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง การเข้าชมควรติดต่อขออนุญาตจากบาทหลวงผู้รับผิดชอบก่อนล่วงหน้า โทรศัพท์ 034-761347

การเดินทาง

ไปตามเส้นทางสาย สมุทรสงคราม-บางนกแขวก (เส้นทางเดียวกับ ตลาดน้ำยามเย็นที่อัมพวา และอุทยาน ร.2) อาสนวิหารแม่พระบังเกิด อยู่เลยแยกสะพานสมเด็จพระอัมรินทร์ไปประมาณ 100 เมตร